กองทุน SSF

กองทุน SSF ปันผล vs ไม่ปันผล เลือกลงทุนแบบไหนดี

องค์ประกอบของกองทุน SSF (Super Savings Fund) คือ สิทธิประโยชน์ในการนำไปลดหย่อนภาษี นโยบายการจ่ายปันผลและนโยบายไม่จ่ายปันผล มีวัตถุประสงค์เพื่อการออมเงินระยะยาว เมื่อองค์ประกอบของกองทุนเป็นเช่นนี้ ในส่วนของการลดหย่อนภาษีเชื่อว่าหลายคนเข้าใจเป็นอย่างดี แต่เรื่องของนโยบายปันผลกับไม่ปันผล ก็เชื่อเหลือเกินว่ายังมีหลายคนที่ยังลังเลอยู่ว่า ควรเลือกลงทุนแบบไหนดี บทความนี้จึงตั้งใจทำความเข้าใจกับนักลงทุนเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อให้นักลงทุนได้นำข้อมูลไปประกอบการตัดสินใจ

ตอบชัด ๆ กองทุน SSF จ่ายปันผล กับไม่จ่ายปันผล แบบไหนดีกว่ากัน

การตัดสินใจเลือกกองทุน SSF แบบจ่ายปันผลกับไม่จ่ายปันผล นักลงทุนควรดูที่เป้าหมายการลงทุนเป็นหลัก เพราะอย่างน้อย ๆ นักลงทุนต้องทราบเป็นพื้นฐานแล้วว่า SSF คือการลงทุนเพื่อการออมระยะยาว แต่ถ้านักลงทุนมีความรู้สึกว่า การรอ 10 ปีเป็นระยะเวลาที่ยาวนานเกินไป ต้องการให้มีเงินกำไรออกมาใช้บ้าง การเลือกกองทุนแบบจ่ายเงินปันผล จะตอบโจทย์เป้าหมายการลงทุนได้ดี ช่วยให้คุณสามารถมีเงินสดใช้ อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงจากการลงทุนด้วย เพราะคุณได้ทยอยนำกำไรออกมาใช้แล้ว 

แต่ถ้าคุณมั่นใจว่า ตลอดเวลาที่ถือครองหน่วยลงทุน คุณไม่มีความจำเป็นนำเงินจากกองทุนมาใช้ การเลือกกองทุนแบบไม่จ่ายเงินปันผล จะตรงกับเป้าหมายการลงทุนมากกว่า เพราะกองทุนที่มีนโยบายไม่จ่ายเงินปันผล จะนำเงินกลับไปสู่กองทุน และนำไปลงทุนต่อ ช่วยให้มูลค่ารวมของพอร์ตเพิ่มขึ้น

ที่สำคัญเมื่อถึงกำหนดขายกองทุน SSF กำไรที่ได้รับจากการขายคืนจะได้รับการยกเว้นภาษี ผลตอบแทนของกองทุนที่ไม่จ่ายปันผลจะได้รับอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากกว่ากองทุนที่มีการจ่ายปันผล เพราะการจ่ายปันผลนั้นจะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% ดังนั้นการเลือกว่า ควรลงทุนแบบจ่ายปันผล หรือไม่จ่ายปันผลดี นักลงทุนควรเลือกจากเป้าหมายการลงทุนของตัวเอง และเลือกที่ผลตอบแทนที่จะได้รับว่า รูปแบบไหนที่เหมาะสมมากที่สุด

กองทุน SSF

เจาะให้ลึก กองทุน SSF แบบจ่ายปันผล กับไม่จ่ายปันผลเป็นอย่างไร

เพื่อให้การตัดสินใจของนักลงทุนง่ายขึ้น เห็นภาพได้ชัดเจนขึ้นว่า ควรเลือกกองทุน SSF แบบจ่ายปันผลหรือไม่จ่ายปันผลดี เราจะเจาะลึกถึงรูปแบบให้ทุกท่านได้เข้าใจ

กองทุนแบบจ่ายเงินปันผล 

เป็นรูปแบบกองทุนที่มีนโยบายการจ่ายเงินปันผลให้แก่นักลงทุนที่เข้าถือหน่วยลงทุน ด้วยการจ่ายเงินสดให้แก่นักลงทุนในระหว่างที่ทำการถือหน่วยลงทุนอยู่ โดยที่ไม่ต้องรอให้ครบ 10 ปี ส่วนจำนวนเงินปันผลจะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับผลประกอบการ หรือผลการดำเนินงานตามนโยบายของกองทุนนั้น ๆ 

โดยการรูปแบบการจ่ายเงินปันผลนี้ จะช่วยสร้างรายได้ให้กับนักลงทุน ได้มีกระแสเงินสดสำหรับการนำมาใช้ในระหว่างการลงทุน อีกทั้งยังทำหน้าที่เปรียบเสมือนผู้ดูแลกำไรส่วนตัวให้กับนักลงทุน ช่วยให้ได้กำไรจากกองทุนอย่างสม่ำเสมอ และช่วยป้องกันปัญหาในเวลาที่กองทุนมีกำไรแต่ยังไม่ได้ขายออกไป ส่วนข้อควรระวังคือ การจ่ายเงินปันผลรูปแบบนี้ จะต้องมีการหักภาษี ณ ที่จ่ายด้วย 10% อีกทั้งมูลค่า NAV หรือมูลค่าหน่วยลงทุนจะไม่ค่อยขยับเพิ่มขึ้น เพราะมูลค่าหน่วยลงทุนจะลดลงเมื่อกองทุนมีการจ่ายเงินปันผลออกไป และเมื่อครบกำหนดขายกองทุน SSF นักลงทุนจะได้รับส่วนต่างกำไรจากการขายกองทุนไม่สูงมาก เนื่องจากมีการทยอยนำกำไรออกไปก่อนหน้านี้ พร้อม ๆ กับการหักภาษี ณ ที่จ่าย 

กองทุนแบบไม่จ่ายเงินปันผล 

เป็นรูปแบบกองทุนที่มีนโยบายไม่จ่ายเงินปันผลให้แก่นักลงทุน หรือเรียกว่ากองทุนแบบสะสมมูลค่า และเมื่อกองทุนไม่จ่ายเงินปันผล กำไรที่ได้จากการดำเนินงานตามนโยบาย จะถูกนำกลับไปใช้ลงทุนต่อ ทำให้กองทุนมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ดอกเบี้ยหรือกำไรก็จะต่อยอดเบ่งบานขึ้นเรื่อย ๆ 

และเมื่อครบกำหนดขายกองทุน นักลงทุนจะได้ส่วนต่างกำไรแบบดอกเบี้ยทบต้น อีกทั้งยังได้รับการยกเว้นภาษี ทำให้เห็นถึงคุ้มค่าของความอดทนและการอดออม ส่วนข้อควรระวังของการลงทุนแบบไม่จ่ายเงินปันผล คือ ในระหว่างการถือหน่วยลงทุนจะไม่มีเงินสดออกมาให้ใช้ และไม่สามารถนำกองทุนออกมาขายเพื่อกำไรส่วนต่างได้ก่อนครบกำหนด จึงสรุปได้ว่า การลงทุนกับกองทุนประเภทนี้ เมื่อเลือกที่จะลงทุนแล้วควรถือหน่วยลงทุนต่อไปจนครบกำหนดตามนโยบาย

ดังนั้นกองทุน SSF แบบมีเงินปันผลกับไม่มีเงินปันผล จะสร้างประโยชน์ให้กับนักลงทุนหากมีความเข้าใจเกี่ยวกับรายละเอียดของกองทุน และเข้าใจในเป้าหมายการลงทุนของตัวเอง โดยถ้าต้องการให้มีเงินสดใช้ระหว่างการลงทุน ควรเลือกการลงทุนแบบมีเงินปันผล แต่ถ้าต้องการรับเงินก้อนใหญ่โดยที่ไม่ต้องเสียภาษี ให้เลือกการลงทุนแบบไม่จ่ายเงินปันผล และอดทนรอระยะเวลาการลงทุนจนครบ 10 ปี